ในอดีตนักวิจัยหลายท่านพยายามศึกษาการเพาะเลี้ยงเห็ดโคน ในปี 2520 ยงยุทธ สายฟ้า และคณะได้พยายามเพาะเลี้ยงเห็ดโคน โดยใช้สูตรอาหารคล้ายกับสูตรอาหารของ Batra (1977) แต่ก็ไม่สามารถทำให้เส้นใยเห็ดโคนออกดอกในสภาวะการเพาะเลี้ยงได้เลย โดยทั่วไปเห็ดโคนมีความสัมพันธ์กับปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคน ดังรายงานของณิศ กีร์ติบุตร และยุพา หาญบุญทรง ในปี 2528 ที่พบปลวกที่เกี่ยวข้องกับเห็ดโคน 3 ชนิดคือ
1. Macrotermes gilvus
2. Macrotermes malaccensis
3. Odontotermes close to proformosanus
โดยพบเห็ดปลวกไฟ เห็ดปลวกน้ำท่วมและเห็ดปลวกข้าวตอกขึ้นจากรังของปลวกชนิดดังกล่าวตามลำดับ ในปี 2532 ณิศ กีร์ติบุตร และคณะได้ศึกษาศักยภาพของการเพาะเห็ดปลวกด้วยการติดตามพลวัตรประชากรปลวกโดยใช้กับดักที่มีกระดาษฟางเป็นเหยื่อล่อ พบปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคน 3 ชนิด คือ
1. Macrotermes gilvus
2. Microtermes pakistanicus
3. Odontotermes feae
พืชอาหารของปลวกที่พบในบริเวณที่วางกับดักคือสาบเสือ ต้นแดง พันชาติและต้นเพ็ก การเพาะเห็ดปลวกควรทำโดยอาศัยหลักลดประชากรปลวก แล้วปรับปัจจัยทางกายภาพให้คล้ายคลึงกับสภาพอากาศในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน การพัฒนาดอกเห็ดปลวกก็จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สุมาลี พิชญางกูร (2533) ได้ทดลองผสมเห็ดข้ามสกุลระหว่างสายพันธุ์เห็ดโคนกับเห็ดฟาง โดยวิธีหลอมรวมโปรโต-พลาส โดยหวังว่าจะได้เห็ดลูกผสมที่มีคุณลักษณะที่ดีกว่าสายพันธุ์เดิม
ปัจจุบันชาวบ้านในเขตอำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ได้ทดลองเพาะเห็ดโคนโดยการเลียนแบบธรรมชาติ ผลคือได้เห็ดโคนในฤดูแรก แต่ฤดูต่อมาเห็ดโคนจะออกน้อยหรือแทบไม่มีเลย (สุทธิพรรณ ตรีรัตน์ และคณะ 2540) ในปี 2543 สุนิศา สงวนทรัพย์ และคณะได้ศึกษาปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคนในป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.กาญจนบุรี พบว่าเห็ดโคน 2 ชนิด คือ
1. Termitomyces fuliginosus
2. Termitomyces striatus
มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปลวก Hypotermes makhamensis
จากการศึกษาสังคมปลวกในสภาพนิเวศป่าเขตร้อนโดย ยรรยง เฉลิมแสน และคณะ ในปี 2542 และปลวกในสวนไม้ผลใน จ.จันทบุรี โดย วิทวัส ฑีฆธนานนท์ ในปี 2543 พบปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคน 4 ชนิดในป่าดิบฝนเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิฌชกูฏ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวคือ
1. Hypotermes makhamensis
2. Macrotermes gilvus
3. Microtermes obsei
4. Odontotermes formosanus
5. Odontotermes faea
ส่วนในสวนไม้ผล กิ่ง อ.เขาคิฌชกูฏ พบปลวก 4 ชนิดเช่นเดียวกัน ได้แก่
1. Macrotermes carbonarius
2. Microterms pakhistanicus
3. Microterms obesi
4. Odontotermes formosanus
การศึกษาวิจัยปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคนล่าสุดในขณะนี้คือ การวิจัยศักยภาพการเลี้ยงปลวกปลูกเห็ดโคนในระบบนิเวศของหญ้าแฝกโดย ณิศ กีร์ติบุตร และคณะในปี 2544 โดยใช้หญ้าแฝก 2 สายพันธุ์ ปลูกล้อมรอบจอมปลวก โดยปลูกสายพันธุ์สุราษฎ์ธานีไว้ด้านในและสายพันธุ์ราชบุรีอยู่ด้านนอก ทั้งนี้เพื่อให้หญ้าแฝกสายพันธุ์สุราษฎร์ธานีเป็นอาหารของปลวก ส่วนหญ้าแฝกสายพันธุ์ราชบุรี (โดยเฉพาะระบบราก) เป็นตัวกั้นไม่ให้ปลวกออกมาจากบริเวณที่ปลูกแฝกล้อมรอบ เมื่อถึงฤดูกาลออกดอกของเห็ดโคน จักได้เกิดอยู่ภายในแปลงที่ปลูกหญ้าแฝกล้อมเอาไว้ ส่วนผลการทดลองยังอยู่ในระหว่างการศึกษา
ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (www.rdi.ku.ac.th)