จอมปลวกพญานาคธรรมชาติสร้างจิตนาการเสริมที่วัดท่าบ้านหนองจันทร์ : ท่องไปในแดนธรรม โดย เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0
"พญานาค" หรือนาค ในตำนานพุทธประวัติ กล่าวถึงไว้หลายครั้งด้วยกัน เช่น เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีอยู่ครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ ๗ วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน ได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์ เข้ามาวงด้วยขนด ๗ รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความเชื่อดังกล่าวทำให้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา
ส่วนคติความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคกับคนไทยนั้น มักจะเป็นภาคที่ติดกับแม่น้ำโขง คือ ภาคเหนือ และภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษา โดยมีลักษณะเป็นงูขนาดใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสู่จักรวาลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข่าวการพบพญานาค รวมทั้งร่องรอยของพญานาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลออกพรรษา ทั้งนี้ได้สร้างความสนใจให้คนไทยทั่วประเทศ
และข่าวหนึ่งที่สร้างความสนใจไม่น้อยยิ่งกว่า คือ ชาวบ้านหนองจันทร์ จ.นครพนม แห่กราบจอมปลวก คล้ายหัวพญานาคโผล่ ๒๓ หัว ที่ขึ้นอยู่ในวัดท่าบ้านหนองจันทร์ หมู่ ๑๓ ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นวัดร้างโบราณยุคเมืองมรุขนครอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ตั้งแต่ยังไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม
จอมปลวกพิสดารผิดจากจอมปลวกทั่วไป คือ มีแท่งดินคล้ายเศียรพญานาคโผล่ขึ้นกลางจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพญานาคแสดงปาฏิหาริย์ เป็นจอมปลวกที่เกิดขึ้นบริเวณข้างกุฏิพระ เกิดขึ้นริมผนังปูนกุฏิด้านนอกติดริมรั้ววัด มีจุดเด่นคือ มีแท่งจอมปลวกแทงทะลุออกมาจำนวน ๒๓ แท่ง แต่ละแท่งคล้ายหัวพญานาค โดยคนแก่ในหมู่บ้านจำนวนมากได้นำผ้าสีมาพันยอดจอมปลวก และทำขัน ๕ จุดธูปเทียนคารวะบูชา และขอโชคลาภด้วยความศรัทธาตาม
พระมนตรี โชติมันโต เจ้าอาวาสวัดท่าบ้านหนองจันทร์ กล่าวว่า จอมปลวกพญานาคนี้เกิดขึ้นภายในกุฏิ เมื่อพรรษาก่อนนี้ โดยมีชาวบ้านที่มาทำบุญที่วัดไปพบมีแท่งดินคล้ายหัวพญานาคกว้าง ๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ในครั้งนั้นโผล่ขึ้นมา ๓ แท่ง และเกิดขึ้นเรื่อยๆ รวมตอนนี้มี ๒๓ แท่ง ซึ่งชาวบ้านก็มาแห่ดูมากขึ้น จนเมื่อไม่กี่วันมานี้มีวัยรุ่นขี้เหล้าเข้ามากล่าวลบหลู่พร้อมใช้มือตบแท่งหัวพญานาคหักไป ๒ หัว ปรากฏว่า รุ่งเช้าชาวบ้านบอกว่าคนที่หลบหลู่เกิดมือหงิกออกแรงไม่ได้เลย จึงได้ทำขัน ๕ มาขอขมาแล้วมือใช้ได้ปกติ
เมื่อข่าวดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป ยิ่งเป็นที่โจษขานของชาวบ้านแห่มากราบไหว้มากขึ้นทุกวัน รวมทั้งชาวลาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำโขงก็ข้ามเรือมากราบไหว้ขอพรอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพระก็ห้ามปรามความเชื่อของชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ เพราะเขามีความเชื่อเกี่ยวพันกับพญานาคมานาน เพราะเป็นหมู่บ้านชุมชนริมโขง เมื่อเห็นเขามีความสุขในสิ่งที่ทำก็ทำไป แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว ๑ ปีก็ตาม
สำหรับประวัติของวัดท่าบ้านหนองจันทร์ เกิดขึ้นในยุคเมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำโขง วัดร้างเก่าแก่ มีพระพุทธรูปหินโบราณยุคสุโขทัย ๒ องค์ลักษณะสร้างฐานติดกับพื้นดิน ไม่สามารถโยกย้ายได้ นั่นคือการสร้างพระในรุ่นอดีตจะหล่อสร้างติดฐานเลย
นอกจากนี้แล้วภายในวัดจะมีบ่อน้ำโบราณ และต้นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้คงเป็นพยานอ้างอิงทางธรรมชาติถึงความเก่าแก่ของวัด
วัดท่าบ้านหนองจันทร์ ได้ผ่านการเป็นวัดร้างมาหลายครั้ง ไม่มีพระมาอยู่ ในอดีตบ้านหนองจันทร์ ตั้งอยู่ในเมืองมรุขนคร ช่วงรัชกาลที่ ๓ ของสยาม ก่อนที่จะย้ายเมืองเข้ามาอยู่ที่บ้านโพธิ์คำ ซึ่งเป็นเขตเทศบาลเมืองนครพนมปัจจุบันนี้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น จ.นครพนม
เมื่อพระมนตรีได้มาจำพรรษา พร้อมพัฒนามา ๗ ปีนี้เอง ด้วยความร่วมมือร่วมใจชาวบ้าน โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมนครพนมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณด้วย
ปัจจุบันวัดท่าบ้านหนองจันทร์ มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์วัดท่าบ้านหนองจันทร์เท่านั้น ยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัด ศาสนสถานของเดิมพังสลายตามกาลเวลาเกือบหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก (http://www.komchadluek.net/)