กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 6 วิธีดูแลและป้องกันอันตรายจากสารเคมีใกล้ตัว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เช่น น้ำยาล้างท่อตัน สเปรย์กันยุง ยาฆ่าปลวก มด แมลงสาบ กับดักหนู สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
เนื่องจากของใช้ในบ้านบางประเภทมีสารเคมีอันตราย จึงต้องมีการดูแลเพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วม นอกจากติดตามข่าวสาร เตรียมยกของหนีน้ำขึ้นที่สูง เตรียมแผนอพยพแล้วบางครั้งอาจลืมไปว่าในบ้านยังมีของใช้บางประเภทที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
คำแนะนำและวิธีปฏิบัติ
1. สำรวจในบ้าน ว่ามีการใช้น้ำยาทำความสะอาดครัว ห้องน้ำ พื้น น้ำยาล้างท่อตัน สเปรย์ฆ่ายุง กับดักหนู ยาฆ่าปลวก มด แมลงสาบ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย สีทาบ้าน ทินเนอร์ หรือไม่ ถ้ามีเก็บไว้ที่ไหน อยู่ในสภาพอย่างไร
2. สำรวจพื้นที่รอบบ้าน ว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย ยาฉีดปลวก น้ำยาคลอรีน หรือสารเคมีอื่นๆ วางไว้ตรงจุดไหน อย่างไร น้ำท่วมถึงหรือไม่ ถ้าประเมินว่าน้ำท่วมถึงให้จัดเก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด อาจใช้ถุงพลาสติกสวมทับรัดยาง ยกเก็บให้สูงพ้นน้ำหรือขยับไปวางไว้ที่ปลอดภัยนอกบ้าน
3. การป้องกันให้พ้นน้ำ โดยปิดฝาภาชนะสิ่งของใช้เหล่านั้นให้แน่น ไม่ให้มีการรั่วไหล นำไปใส่ถุงพลาสติกหรือภาชนะอื่นๆ ที่เหมาะสม ย้ายเก็บในที่สูงให้พ้นน้ำ แยกจุดวางจากกองอาหารและน้ำดื่ม ทำป้ายหรือเครื่องหมายให้เห็นชัด ระวังอย่าให้รั่วไหลลงน้ำ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หรือถ้าไม่จำเป็นก็ควรลดการใช้ในช่วงน้ำท่วมนี้ไปก่อน
4. สำรวจขยะในบ้าน หากมีภาชนะใส่น้ำยาต่างๆ ข้างต้นที่ใช้หมดแล้วที่ยังไม่ได้ทิ้ง หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วอยู่ในบ้านหรือรอบบ้าน เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ถ้ามีก็ให้รวบรวมแยกจากขยะแห้งอื่นๆ ทั่วไป และถ้ารถขยะยังมาเก็บอยู่ให้รีบเอาออกไปกำจัดทิ้ง แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ให้รวบรวมแยกกลุ่มและเก็บให้พ้นน้ำ
5. สารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ประกอบกิจการภายในบ้าน เช่น อู่ซ่อมรถ เคาะ พ่นสีรถ ร้านขัดล้างโลหะ เป็นต้น ซึ่งอาจมีสารเคมีหลายชนิดที่ละลายน้ำได้ ดังนั้นหากมีน้ำยาเคมีตัวทำละลายที่ระเหยได้ เช่น เบนซิน เอทธิลอาซีเตท เมื่อถูกน้ำหรือน้ำยากรดด่างอาจจะลุกเป็นไฟหรือระเบิดได้ และหาข้อมูลเตรียมไว้ว่าสารเหล่านั้น ถูกน้ำได้หรือไม่ ควรเก็บให้พ้นน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย หรือกรณีที่มีน้ำท่วมบ้านพยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด
6. ถ้าระหว่างหนีน้ำหรือช่วยคนอื่น หากเจอขวดหรือภาชนะใส่สารเคมี ที่ยังมีสารเคมีเหลืออยู่ บ่อกักเก็บน้ำทิ้ง หรือบริเวณทิ้งขยะอันตรายให้แจ้งผู้ดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที กรณีที่เดินลุยน้ำหรือสัมผัสกับสารเคมีควรล้างทำความสะอาดร่างกายและเช็ดให้แห้ง สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีใกล้ตัวในบ้านหลายชนิดเมื่อรั่วไหลลงน้ำอาจทำให้สารเคมีดังกล่าวละลายเจือปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขังและหากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองผิวหนังหรือซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ มีอาการคัน เป็นผื่นแดง ถ้าน้ำเข้าตาจะมีอาการระคายเคือง ต้องรีบล้างผิวหนังด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ
นอกจากนี้ การอยู่ใกล้น้ำที่มีกลิ่นเหม็นจากสารเคมีเป็นเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้มีอาการป่วยฉุกเฉิน ซึ่งในสถานการณ์น้ำท่วมอย่างนี้การเดินทางไปหาแพทย์ยากลำบาก อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงขอเตือนให้ดูแลและจัดเก็บสารเคมีดังกล่าวอย่างเหมาะสมให้พ้นน้ำ ไม่ให้รั่วไหล เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก (http://www.komchadluek.net/)