การเกิดโรค:
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นักวิชาการญี่ปุ่นและโซเวียตเขียนบันทึกเกี่ยวกับกลุ่มอาการของโรคนี้ที่พบบริเวณฝั่งแม่น้ำอามูร์ (Amur River) ในแมนจูเรีย ต่อมาเมื่อกองทัพพัธมิตรยกเข้าไปในเกาหลีก็พบโรคนี้ทั้งในหมู่ทหารและพลเรือน โรคที่เกิดจากไวรัสฮานทานพบมากและกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในจีน โดยมีรายงานโรคปีละประมาณ 40,000 - 100,000 ราย ระยะไม่กี่ปีมานี้มีรายงานโรคในเกาหลีปีละประมาณ 1,000 ราย โรคจะเกิดมากน้อยตามฤดูกาล โดยพบมากที่สุดในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิต่อต้นฤดูหนาว โดยส่วนใหญ่พบในคนชนบทในคาบสมุทรบอลข่าน พบโรคชนิดรุนแรงจากไวรัสฮานทาน หรือโดบราวา ปีละ 200 - 300 ราย โดยอัตราตายสูงไม่น้อยกว่าที่พบในเอเชีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในฤดูใบไม้ผลิและช่วงต้นฤดูร้อน
ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ชั้นนอกของไต (nephropathia epidemica) จากไวรัสพูอูมาลา ส่วนใหญ่พบในยุโรป รวมทั้งรัสเซีย แถบตะวันตกของเทือกเขาอูราล และแถบคาบสมุทรบอลข่านมักพบโรคในช่วงฤดูร้อน หรือปลายฤดูใบไม้ร่วง และต้นฤดูหนาว กลุ่มอาการเหล่านี้ที่พบในนักวิจัยทางการแพทย์ หรือคนเลี้ยงสัตว์ในเอเชียและยุโรป มักเกิดจากหนู (rat) ในห้องทดลองที่ติดเชื้อไวรัสโซล ไวรัสโซลมักแยกได้จากหนูที่จับได้ในเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย สหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา แต่ที่พบความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยมีเฉพาะในจีนและรัสเซีย ส่วนที่อยู่ในเอเชียปัจจุบันมีเทคนิคการตรวจใหม่ๆ ทำให้พบเชื้อโรคไวรัสฮานตาและการติดเชื้อไวรัสฮานตาทั่วโลก
ลักษณะโรค:
เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน อาการเริ่มด้วยการมีไข้เฉียบพลัน ปวดเอว มีเลือดออกลักษณะต่างๆ มากน้อยแตกต่างกันไป และอาการทางไต ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากไวรัสฮานตาพบครั้งแรกในเอเชียและคาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) อาการของโรคจะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะความดันเลือดต่ำ ระยะปัสสาวะน้อย ระยะปัสสาวะมาก และระยะฟื้นไข้ อาการเริ่มต้นจากไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ตามด้วยอาการปวดท้องหรือปวดเอวมาก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหน้าแดง ระยะไข้มักจะมีอาการตาแดงและมีจุดเลือดออก ระยะนี้จะเป็นอยู่ 3 - 7 วัน อาการคลื่นไส้ อาเจียนอาจยังคงอยู่ อาจมีเลือดออกมาก และปัสสาวะจะน้อยลงอย่างมาก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในระยะความดันเลือดต่ำหรือระยะปัสสาวะน้อย (อัตราป่วยตายแตกต่างกัน ในเอเชียประมาณร้อยละ 5 ในคาบสมุทรบอลข่านสูงกว่าเล็กน้อย) อาการปัสสาวะมากในผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังจะฟื้นไข้ ปัสสาวะอาจออกมากถึงวันละ 3 - 6 ลิตร ระยะฟื้นไข้อาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจ ELISA หรือ IFA หาแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบแอนติบอดีชนิด IgM ตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาล การตรวจที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรค ได้แก่ การพบโปรตีนในปัสสาวะ เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ภาวะเลือดข้น เกร็ดเลือดต่ำ และระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือดสูงขึ้น ไวรัสฮานตาอาจถ่ายทอดได้อย่างจำกัดในเซลล์เพาะเลี้ยง และหนูทดลองเพื่อการศึกษาวิจัย ทั้งหนูขนาดเขื่อง (rat) และหนูขนาดเล็ก (mouse) ในการวินิจฉัยแยกโรคต้องนึกถึงโรคเลปโตสไปโรซิส และโรคริกเกตเซียเสมอ
เชื้อก่อโรค:
เชื้อไวรัสฮานตาอยู่ในวงศ์ Banyaviridae เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA virus) รูปทรงกลมหรือทรงรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 95 - 110 nm ลักษณะแอนติเจนแยกได้หลายชนิดโดยแต่ละชนิดจะสัมพันธ์กับสัตว์ฟันแทะแต่ละชนิด ไวรัสฮานทาน (Hantaan virus) พบมากในเอเชียและพบน้อยในยุโรป ไวรัสโดบราวา (Dobrava virus หรือ Belgrade) พบที่ยูโกสลาเวีย ไวรัสพูอูมาลาพบในยุโรป ส่วนไวรัสโซลพบได้ทั่วโลก
แหล่งโรค:
สัตว์ฟันแทะนอกบ้านชนิดต่างๆ (Field rodents) ได้แก่ Apodemus spp. เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสฮานทาน และโดบราวา (เบลเกรด) ในเอเชียและคาบสมุทรบอลข่าน Clethrionomus spp. เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสพูอูมาลา ในยุโรปและแถบตะวันตกของเทือกเขาอูราล Rattus เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสโซลทั่วโลก คนเป็นแหล่งอาศัยของโรคโดยบังเอิญ (accidental host)
วิธีการแพร่เชื้อ:
เข้าใจว่าเกิดโดยการสูดเอาละอองจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ฟันแทะ (เคยมีการทดลองพิสูจน์แล้วว่าทำให้ติดเชื้อได้) เชื้อไวรัสพบได้ในปัสสาวะ อุจจาระ และน้ำลาย