ปัญหา “ ปลวกกินบ้าน “ เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่คนไทยประสบอยู่ขณะนี้ เนื่องจากปลวกสามารถ ทำลายบ้านเรือนให้เสียหายโดยสิ้นเชิงในระยะเวลา 3-5 ปี ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยต้องใช้เวลาในการผ่อนบ้านนาน ถึง 10-15 ปี ปัจจุบันปัญหาปลวกกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น การขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ โดยเฉพาะ ผู้อาศัยในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีอัตราการเจริญค่อนข้างสูง เนื่องจากการปลูกสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยของมนุษย์เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของปลวกและการเพิ่มเนื้อที่สร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์เป็นการลดพื้นที่อยู่อาศัยและลดพื้นที่หากินของปลวก
ปัจจุบันได้มีการทำวิจัยเรื่องปลวก การหาวิธีป้องกันและกำจัดปลวก แต่ยังเป็นการกำจัดด้วยการใช้ สารเคมี ซึ่งสารเคมีมีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และทำให้มีสารพิษตกค้างในดิน บ้านเรือน สวน สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และเป็นภัยมืดที่มองไม่เห็น นักวิจัยท่านนี้ได้ใช้เวลาในการคิดค้นสมุนไพรกำจัดปลวกนาน ร่วม 20 ปี เนื่องจากไม่ต้องการให้คนไทยต้องเสี่ยงชีวิตกับการใช้สารเคมีในบ้าน เพราะพิษของสารเคมีทำให้มี โอกาสเป็นมะเร็งได้สูง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นสมุนไพรกำจัดปลวก ได้เปิดเผยว่า ได้ใช้เวลาในการคิดค้นวิจัยสมุนไพร ที่สกัดจากสารธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ วัตถุประสงค์คือ ลดประชากรปลวกและ หยุดการขยายพันธุ์ของปลวกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด กระบวนการทำงานของสมุนไพรกำจัดปลวกนี้สามารถนำ ไปใช้กับวงจรชีวิตของปลวก เพื่อใช้ควบคุมประชากรปลวก ลดขบวนการย่อยอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ในทาง เดินอาหาร หยุดการลอกคราบของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโต ลดการฟักไข่ของนางพญาเพื่อหยุดการ ขยายพันธุ์ของปลวก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ผลดีมากในการทำให้ปลวกสูญพันธุ์ไปในที่สุด
สมุนไพรที่ทำการวิจัยและนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการกำจัดปลวก คือ ขมิ้นชัน มีผลต่อการหยุดการ ทำงานของเอนไซม์ที่มีเชื้อราในมนุษย์ พืชและสัตว์ เมล็ดน้อยหน่า มีผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อของสัตว์ สะเดาอินเดีย มีสารที่ลดการพัฒนาของแมลง ทำให้แมลงไม่กินพืชที่เราปลูก หางไหล มีสารที่มีผลต่อการหายใจ ของระดับของแมลงจำพวกปากดูดและเจาะดูด สาบเสือ มีผลต่อการลดระดับเอนไซม์ในเลือด ต้นพริก มีผลต่อ การลดการทำงานของอนุมูลอิสระ หญ้าแห้วหมู มีสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในปลวก เปลือกมังคุด มี ผลต่อการทำลายระบบภูมิคุ้มกันในปลวก แต่เนื่องจากสมุนไพรเหล่านี้ปลวกไม่ชอบกิน ซึ่งหากจะฆ่าปลวกได้ ต้องนำมาผสมกับไม้ที่ปลวกชอบกิน เช่น ไม้ฉำฉา โกงกาง ทองหลาง โดยนำมาผสมกันในอัตราส่วนสมุนไพร 1 % และอีก 99 % เป็นไม้ การใช้สมุนไพรกำจัดปลวกมีให้เลือกใช้ถึง 3 รูปแบบตามความเหมาะสมของปัญหา
แบบแรก Terminate เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่งผสมพืชสมุนไพร บรรจุในท่อพลาสติกที่สามารถ เสียบปักฝังดินได้ โดยฝังไปรอบ ๆ บริเวณบ้านในทุกระยะ 1.20 เมตร ปลวกจะกินเหยื่อและนำไปสู่รังของมัน โดยในครั้งแรกจะต้องเข้าทำการตรวจเช็คทุก 15 วัน หากจุดใดที่เหยื่อหมดไปให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่แทน โดย เปลี่ยนเฉพาะเหยื่อที่มีปลวกกินเท่านั้น ระหว่างดำเนินการนี้ปลวกจะค่อย ๆ น้อยลงไปทุกทีและเห็นผลภายใน 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของรังปลวก วิธีนี้เหมาะสำหรับป้องกันปลวกไม่ให้รุกล้ำเข้าบ้าน
แบบสอง Terminus เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่งเหมือนแบบแรกแต่ไม่ต้องฝังดิน เพียงแต่เอาไปติดตั้ง บริเวณทางเดินของปลวกเพื่อล่อให้ปลวกมากัดกินเหยื่อสมุนไพรที่อยู่ในกล่อง Terminus การตรวจเช็คเช่นเดียว กับ Terminate จะสามารถสังเกตได้ว่าหากปลวกได้รับเหยื่อสมุนไพรนี้ ลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มมากกว่าเดิม วิธีนี้เหมาะสำหรับบ้านที่เจอปัญหาปลวกบุกเข้าโจมตีกัดกินข้าวของในบ้านเรียบร้อยแล้ว
แบบสาม Termina Oil เป็นน้ำมันสกัดสมุนไพรเข้มข้น เวลาเอาไปใช้งานต้องทำให้เจือจางในน้ำ อัตราส่วน สมุนไพร 1 ลิตร น้ำ 35 ลิตร ใช้ฉีดพ่น อัดใส่ท่อ และวิธีการเจาะอัดแทนการใช้สารเคมี มีผลออก ฤทธิ์ในการสัมผัสทำให้ปลวกค่อย ๆ อ่อนแอลง ตัวที่แข็งแรงกว่าจะมากัดกินตัวที่อ่อนแอ ทำให้สารนั้นแพร่ กระจายในรังของมันโดยอัตโนมัติ ปริมาณประชากรปลวกจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนสูญพันธุ์ไปในที่สุด
รองศาสตราจารย์สุรพล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งของสมุนไพรกำจัดปลวก ก็คือ ทำให้ราชินีปลวกวางไข่ได้น้อยลง เนื่องจากปลวกงานเอาสมุนไพรนี้ไปให้ราชินีกิน จากเดิมที่เคยไข่ได้นาที ละ100 ฟอง จะลดลงเหลือนาทีละ 4-5 ฟองเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการฆ่าปลวกโดยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นอาจใช้เวลา ประมาณ 2 เดือนถึง 1 ปีขึ้นอยู่กับขนาดของรังปลวก วิธีนี้อาจไม่รวดเร็วเหมือนกับการใช้สารเคมี แต่รับประกัน ถึงความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนได้อย่างแน่นอน
นับเป็นนักวิจัยท่านหนึ่งที่มีความพยายามที่จะนำพืชสมุนไพรที่ประเทศไทยเรามีอยู่ มาคิดค้นและทำการ วิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีโทษต่อผู้ใช้ และยังมีจิตสำนึกของนักวิจัยที่นึกถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เป็น ประการสำคัญอีกด้วย
ที่มา : http://pr.ku.ac.th/pr_news/research/html/2548/233-2548.htm