มักมีข้อสงสัยอยากสอบถามเรื่อง การป้องกันและกำจัดปลวกในบ้าน ว่ามีวิธีอย่างไรบ้าง และหากจะเรียกใช้บริการบริษัทกำจัดปลวกที่ปิดแผ่นโฆษณาอยู่ตามเสาไฟจะได้มาตรฐานหรือเปล่า รบกวนตอบคำถามด่วนด้วยเช่นนี้อยู่เนืองๆ
ปัญหาปลวกกินบ้านถือเป็นปัญหาคลาสสิคที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเจ้าของบ้านติดอันดับต้นๆ เพราะปลวกไม่ได้กัดกินแค่เฉพาะไม้อย่างที่เราเคยได้ยินคนพูดกันเท่านั้น วัสดุอย่างอื่นอาทิ เศษกระดาษ หนังสือ หนัง เศษผ้า พรม อะไรนี่มันก็กินเรียบ ซึ่งถ้าว่าตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งที่ปลวกกินนั้นก็คือ เซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในเนื้อไม้ นั่นทำให้อะไรก็ตามที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ เช่นวัสดุที่ยกตัวอย่างไปทั้งหมดข้างต้นก็ถือเป็นอาหารของปลวกเช่นกัน ปลวกขึ้นบ้านนับเป็นปัญหาหนักอก ไม่เฉพาะแค่บ้านไม้ แต่รวมไปถึงบ้านปูนที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ หรือตกแต่งห้องด้วยไม้ โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ได้ทำการป้องกันปลวกมาแต่เนินๆ เพราะไม้เปรียบเหมือนของหวานแสนอร่อยของเจ้าวายร้ายตัวน้อยเหล่านี้ หากเราพบร่องลอยของปลวกในบ้าน อย่านิ่งเฉยควรรีบติดต่อผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยดูแล ก่อนที่เราจะเสียบ้านแสนรักให้กับเจ้าปลวกจอมเขมือบตัวจิ๋วๆอ้วนๆกินเงียบๆนี่แหละ สำหรับการป้องกันกำจัดปลวกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1) เตรียมสร้างบ้านให้ห่างไกลปัญหาปลวกๆ
1.1) วิธีการสร้างบ้านให้ห่างไกลปัญหาปลวกหรือให้มีการออกแบบบ้านที่มีจัดการวางระบบเรื่องการกำจัดปลวกตั้งแต่เริ่มแรก ถ้าว่ากันแบบกำปั้นทุบดินก็คือ การลดการใช้ไม้ที่มีส่วนประกอบของเซลลูโลส ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก เพราะต่อให้เราเลือกใช้วัสดุอย่าง คอนกรีต เหล็ก ไม้เทียม แต่ปลวกก็ยังมากับวัสดุอื่นๆ อยู่ดี (และการก่อไม้แบบเทคอนกรีตนั้นก็ต้องใช้ไม้จริงอยู่ดี) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือ การกำจัดแหล่งสร้างรังปลวก ไม่ให้มันมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ บ้านเรา วิธีการที่แนะนำคือกำจัดแหล่งอาหาร เช่นอย่าเก็บหนังสือด้วยกล่องกระดาษลูกฟูก ให้ใช้กล่องพลาสติกแทน แล้วทิ้งลูกเหม็นไปสัก 1 ลูก หรือการบูร พิมเสน ก็ได้เพื่อกลบกลิ่นกระดาษจากหนังสือไม่ให้ไปแตะจมูกพวกปลวก จากนั้นก็ ตัดทางเดินปลวก ด้วยการหมั่นกวาดเศษใบไม้ที่กองทับถมอยู่รอบตัวบ้าน เพราะปลวกชอบนักแหละ และจะกลายเป็นยกพวกกันมาเข้าบ้านเราหรือลอง เลี้ยงไส้เดือนฝอย เพราะไส้เดือนฝอยจะช่วยกำจัดปลวกใต้ดินให้เราได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นคุณควรหาซื้อไส้ดินฝอยมาเลี้ยงไว้ในสวนบ้าง เพื่อให้ไส้เดือนฝอยช่วยจับปลวกมาเป็นอาหาร ลดประชากรปลวกในบ้านไปได้เยอะเลยทีเดียว
1.2) อีกวิธีที่นิยมก็คือการฉีดเคมีเคลือบโครงไม้ โดยให้ซึมเนื้อไม้เน้นตามรอยเลื่อนรอยต่อ เป็นการป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของปลวก มอด ด้วง และเชื้อราต่างๆด้วย ส่วนไม้ที่นำมาใช้สร้างบ้านนั้นควรเลือกไม้ที่นำมาก่อสร้างที่มีความทนทางต่อการทำลาย เช่น ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ชิงชันและไม้ประดู่ แต่ถ้าใช้ไม้เนื้ออ่อน ควรทำการอาบน้ำยาป้องกันเสียก่อน
2) การป้องกันและกำจัดปลวกในระหว่างก่อสร้างบ้าน
2.1) การอัดน้ำยาสารเคมีกำจัดปลวกลงดินบนพื้นที่บ้าน ให้รอบแนวคานด้านใน-นอก และฉีดเคลือบผิวดินในทุกๆ ตารางนิ้ว รวมทั้งสเปรย์สารเคมีออกไปโดยรอบของตัวอาคาร 1 เมตรและบริเวณที่มีความชื้นสูง ด้วยการใช้เครื่องอัดความดันสูง (Injector) มาอัดน้ำยารอบแนวคานทั้งด้านในและด้านนอกบ้าน หลังการปรับระดับพื้นบ้าน โดยเว้นระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 70 -100 เซนติเมตร จากนั้นจึงฉีดพ่นน้ำยาเคลือบผิวดินอีกที ทั้งพื้นในบ้านและในรัศมี 1 เมตรรอบตัวอาคารด้านนอก
2.2) การวางท่อน้ำยาลงดิน ด้วยการติดตั้งท่อ PVC หรือท่อ PE ทนแรงอัดความดัน ตามแนวคานคอดินหลังจากถอดไม้แบบคาน แล้วทำหัวฉีดพ่นน้ำยาเป็นระยะๆ จากนั้นติดตั้งวาล์วหัวฉีดทุกช่วง 15-20 เมตร ให้เชื่อมต่อกับโครงข่ายท่อโผล่ออกมานอกอาคาร เพื่อให้สามารถอัดน้ำยาได้ใหม่ในครั้งต่อไปเมื่อมีปลวกขึ้นบ้าน
3) การป้องกันและกำจัดปลวกสำหรับบ้านสร้างเสร็จแล้ว
3.1) การราดอัดน้ำยากำจัดปลวกผ่านระบบท่อใต้อาคารตามที่ได้วางระบบป้องกันไว้เมื่อระหว่างก่อสร้างบ้าน ระบบท่อน้ำยาใต้ดินนี้จะออกแบบให้เดินไปตามแนวคานและเจาะรูที่ท่อเป็นระยะๆ แต่ท่อจะไม่สัมผัสกับดินเนื่องจากอาจจะทำให้ท่ออุดตันได้ ซึ่งระบบนี้จะสะดวกสบายกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าไปในตัวบ้าน ไม่ต้องทุบพื้น เจาะบ้านเป็นรูเพื่ออัดน้ำยาให้ตัวบ้านหลังจากอัดน้ำยาในครั้งแรกหมดอายุ
3.2) ในกรรีที่ไม่ได้วางระบบท่อน้ำยาใต้ดินไว้ก่อนแล้ว มีความจำเป็นต้องเจาะพื้นเพื่ออัดน้ำยาเคมี จะมีลักษณะเดียวกับการอัดน้ำยาลงดินระหว่างสร้างบ้าน แต่เราจำเป็นต้องเจาะรูพื้นด้วยสว่างไฟฟ้าก่อน วิธีนี้จึงมีล่องรอยการเจาะหลงเหลือเมื่ออัดน้ำยาเสร็จ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะตกแต่งผิวพื้นให้ใกล้เคียงกับสภาพพื้นเดิมมากที่สุด ด้วยการใช้พุกหรือมุด (Pointer) สีใกล้เคียงพื้นเดิมมาปิด ซึ่งสามารถเปิดเพื่อเติมน้ำยาได้ในครั้งต่อๆไปได้
3.3) การใช้เหยื่อกำจัดปลวก เป็นวิธีการกำจัดปลวกที่ต้นต่อ แต่ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นวิธีอาศัยพฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติของปลวกมาใช้กำจัดปลวกเอง ขั้นแรกผู้เชี่ยวชาญจะตรวจหาจำนวนและตำแหน่งเส้นทางเดินของปลวกในบ้าน ด้วยเครื่องตรวจจับความเคลื่อนไหวหรือสถานีเหยื่อล่อ (Bait Station) ก่อนจะวางไม้เหยื่อ (อาหารปลวก) ให้ปลวกงานเห็น จากนั้นปลวกงานจะปล่อยสารตามเส้นทางเดิน เพื่อเรียกให้ปลวกตัวอื่นๆมาที่ไม้เหยื่อที่เราวางไว้ตามจุดต่างๆในบ้าน จากนั้นเราจึงเปลี่ยนไม้เหยื่อเป็นเหยื่อกำจัดปลวก (Bait) ที่ชื่อว่า Hexaflumuron ซึ่งเป็นสารยับยั้งการลอกคราบของปลวก ทำให้ปลวกไม่สามารถเจริญเติบโตได้จนตายในที่สุด
ส่วนบ้านที่ปลวกกินแล้วแก้ไม่ทัน เจ้าของบ้านเกิดอาการมึนงง วิตกกังวลกับการกำจัดปลวกก็โทรเรียกบริษัทกำจัดปลวก สำหรับการเลือกใช้บริการกำจัดปลวก ขั้นแรกเราควรตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตให้ครอบครองวัตถุอันตรายหรือไม่ และเป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากกองควบคุมวัตถุมีพิษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีวัตถุอันตรายไว้ครอบครอง เพื่อการกำจัดปลวกและแมลงหรือเปล่า หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อแนะนำได้จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โทร 0-2590-7000 หรือสายด่วน อย. 1556