4 อันตราย ยุงในประเทศไทย พาหะโรคร้ายสู่บ้านคุณ
ยุงเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก ในทุกๆ ปีจะมีคนมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคที่ยุงเป็นพาหะ และมีหลายร้อยล้านคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ยุงเป็นพาหะ วันนี้จะมานำเสนอ 4 สายพันธุ์ยุงในประเทศไทยที่มีอันตรายเป็นอย่างมากครับ
1.ยุงลาย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
ยุงลายบ้าน หรือ ยุงไข้เหลือง
เป็นยุงที่สามารถแพร่ไวรัสไข้เด็งกี ชิคุนกุนยาและไข้เหลือง ตลอดจนโรคอื่น ๆ ได้ ยุงลายบ้านสามารถสังเกตได้จากรอยสีขาวที่ขาและเครื่องหมายรูปพิณโบราณบนอก มักพบตามบริเวณบ้านในเขตเมือง และเลือกวางไข่บนบริเวณน้ำขัง โดยเฉพาะที่อยู่ในภาชนะต่าง ๆ เช่น ตุ่มน้ำ จานรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า ถึงจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถบินฉวัดเฉวียนได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว ยุงลายบ้านมีกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ปัจจุบันพบได้ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก
ยุงลายสวน
มีเกล็ดสีดำที่ระยางค์ปาก ด้านหลังของส่วนอกมีแถบสีขาวพาดอยู่ตรงกลางลูกน้ำ บริเวณปล้องที่แปดมีเกล็ดอยู่หนึ่งแถวประมาณ 8-12 อัน ส่วนปลายของเกล็ดที่บริเวณขอบไม่แยกเป็นแฉก ส่วนอกไม่มีหนามแหลม ส่วนใหญ่อยู่ในป่าสวน เพาะพันธุ์ตามต้นไม้ใบไม้ ตอไม้ที่มีน้ำฝนมาตกค้างอยู่ มีแหล่งเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในวงกว้าง ทำให้ปริมาณยุงมีความชุกชุมมากกว่ายุงลายบ้าน จึงต้องกำจัดยุงลายสวนควบคู่ยุงลายบ้านด้วย โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีปริมาณฝนตกชุกและยาวนานกว่าภาคอื่น สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสวน เหมาะต่อการเพาะพันธุ์
2.ยุงก้นปล่อง
ลักษณะสำคัญของยุงก้นปล่อง คือ ส่วนรยางค์ของปากมีขนาดไล่เลี่ยกับความยาวของงวงดูดเลือด อกด้านหลังมี ขอบด้านท้ายสุดโค้งเรียบ ไม่หยักเป็นพูสามพู เวลาเกาะกับพื้นราบ ลำตัวจะทำมุม 45-90? กับพื้นที่เกาะ มักยกส่วนท้องขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัดขณะยืนทรงตัวดูดเลือด ยุงก้นปล่องวางไข่เป็นใบเดี่ยว ๆ แต่ละใบแยกจากกันบนผิวน้ำใสที่ไหลช้าและมีร่มเงา ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นแหล่งกบดานของยุงก้นปล่องกว่า 73 สายพันธุ์ แต่มีเพียง 3 สายพันธุ์ที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย
3.ยุงรำคาญ
เป็นยุงที่คุ้นเคยกันดี ลำตัวจะมีสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อน ปีกหรือลำตัวหรือขาหรือส่วนอื่นๆของร่างกายไม่มีจุดหรือแต้มที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกเสียจากจะส่องดูด้วยแว่นขยายจึงจะเห็นจุดตามลำตัว ปีก และขา ในขณะพักตัวหรือดูดเลือดจะมีส่วนของลำตัวขนานกับพื้นผิว พบบ่อยในทวีปแอฟริกาและเอเชีย พบมากในฤดูฝน มีพฤติกรรมดูดเลือดคนและสัตว์เลือดอุ่นอย่างวัว ควาย และหมู เป็นอาหารและมักออกหากินในเวลากลางคืน ยุงชนิดนี้มักวางไข่เป็นแพในบริเวณที่มีน้ำขังเน่าเสียที่ มีปริมาณสารอินทรีย์สูง เช่น บริเวณน้ำขัง ท่อระบายน้ำ น้ำลายของยุงชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการคันและมีตุ่มแดงผุดขึ้นบนผิวหนัง น้ำลายยุงรำคาญสามารถทำให้เกิดอาการแพ้เป็นแผลขนาดใหญ่ตามผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง
4.ยุงเสือ
ยุงลายเสือ หรือยุงเสือ พบมากในแอ่งหรือหนองน้ำที่มีวัชพืชและพืชน้ำต่างๆเช่น จอก ผักตบชวา แพงพวยน้ำ หรือหญ้าปล้อง เป็นพาหะของโรคเท้าช้างที่พบมากในบริเวณที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ยุงเสือเป็นยุงที่มีลักษณะสีสันลวดลายสวยงาม เนื่องจากเกล็ดบนตัวจะมีขนาดใหญ่และลวดลายสีเข้มกว่ายุงชนิดอื่นๆ ลำตัวและขาของยุงเสือมีลวดลายค่อนข้างสวยงาม บางชนิดมีสีเหลืองขาวสลับดำคล้ายลายของเสือโคร่ง บางชนิดมีลายออกเขียวคล้ายตุ๊กแก ลักษณะของยุงเสือ ลำตัวมีขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยเกล็ดทำให้ดูคล้ายมีฝุ่นผงเกาะติดทั่วตัว ยุงเสือจะมีปีกแตกต่างจากยุงกลุ่มอื่น คือ เส้นปีกจะมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้ม เกล็ดที่ปกคลุมปีกมีขนาดใหญ่และค่อนข้างกลม สีดำสลับสีขาว ขาลายเป็นปล้องๆ บริเวณขามีสีแบบตกกระ มีแถบขาวล้อมรอบ ตรงส่วนปลายของท้องมีลักษณะเป็น 3 พู แต่ละพูมีขนยาว 1 กระจุก ยุงเสือชอบออกหากินเวลากลางคืน โดยเฉพาะตามทุ่ง หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีพืชน้ำขึ้น
(ข้อมูลจาก: บริษัทบริการกำจัดปลวกกำจัดแมลง หจก.มิสเตอร์ กิตติ พิชิตแมลง (Mr.Kitti Pest) Hotline : 062-782-4551)